รู้หรือไม่ บ๊วยแผ่นกลมๆ สีแดงๆ ในความคุ้นเคยของเด็กยุค 90s (และยุคก่อนหน้า) จริงๆ แล้วมันไม่ได้ทำมาจากบ๊วย (plum) แต่ทำมาจากผลไม้ชื่อเซียงจาต่างหาก แบบที่อากงอาม่าเราชอบเรียกบ๊วยแผ่นนี้ว่า บ๊วยเซียงจา หรือ บ๊วยซันจา นั่นแหละ

เซียงจา (山楂 shānzhā) เป็นเบอร์รีชนิดหนึ่ง โดยในภาษาอังกฤษจะเรียกกันว่า Chinese hawberry ในขณะที่คนจีนที่พูดสำเนียงแต้จิ๋วมักเรียกว่าซัวจาโดยหากสืบวงศ์ตระกูลไปแล้วจะพบว่า เซียงจาจัดอยู่ในจำพวกเดียวกับกุหลาบเช่นเดียวกับแอปเปิลและแพร์ ผลของมันจะมีสีแดงสดและมีรสเปรี้ยวจัด ซึ่งมีสรรพคุณในการช่วยลดไขมันในเส้นเลือด และทำให้เลือดลมหมุนเวียนดี

แต่ด้วยรสชาติที่เปรี้ยวจัดมันเลยมักถูกนำมาแปรรูปมากกว่าที่จะกินแบบสดๆ ทั้งแบบเสียบไม้เคลือบน้ำตาลเป็นถังหูลู่และแบบเซียงจาแผ่นที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ ซึ่งก็แน่นอนว่าการประโคมน้ำตาลลงไปจำนวนมากจึงทำให้สรรพคุณของเซียงจาไม่ค่อยมีผลเท่าไรนัก ยกเว้นว่าจะบริโภคแบบตากแห้งในชุดเครื่องยาจีนเท่านั้น

นอกจากจะกินเล่นๆ เป็นขนมแก้ง่วงแล้ว เซียงจาแผ่นยังสามารถเสิร์ฟกับน้ำชา หรือใช้รับประทานกับยาจีนเพื่อละรสขมเฝื่อนลงได้ ในทุกๆ ที่ที่มีคนเชื้อสายจีนอยู่ เราก็มักจะหาเซียงจาแผ่นกินได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นในจีน ฮ่องกง ไต้หวัน และชุมชนจีนโพ้นทะเลในแทบทุกประเทศ สำหรับคนเชื้อสายจีน เซียงจาแผ่นจึงเป็นขนมที่คนหลายรุ่นมีความทรงจำร่วมกันในช่วงชีวิตใดช่วงชีวิตหนึ่ง

ในเทศกาลตรุษจีนของปี 2014 จีนมีการประกาศรายชื่ออาหารที่ไม่ได้มาตฐานออกมาหลายรายการ และหนึ่งในนั้นก็มีเซียงจาแผ่นอยู่ถึง 3 ยี่ห้อ เนื่องจากตรวจพบว่าใช้เม็ดสีสีแดงที่มีสารก่อมะเร็งอยู่ด้วย พร้อมประกาศให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการบริโภคเซียงจาแผ่น รวมถึงเซียงจาแปรรูปที่มีสีจัดเกินไปหรือมีรสหวานเกินไป เพราะอาจเป็นสินค้าไม่ได้มาตรฐาน หลังจากนั้นเซียงจาก็ดูจะหายหน้าหายตาจากแผงขนมและร้านของชำไปพักใหญ่เลยทีเดียว

แต่ความคลาสสิกของเซียงจาแผ่นนั้นอยู่ในระดับที่ฆ่าไม่ตาย ทุกวันนี้เซียงจาแผ่นหลายเจ้าจึงพัฒนาสูตรโดยปรับรสชาติให้หวานน้อยลง ลดการใช้สีผสมอาหาร เพื่อปรับตัวให้เข้ากับกลุ่มผู้บริโภคที่มีความรู้เรื่องสุขอนามัยอาหารมากขึ้น แต่กระนั้นก็ยังมีเซียงจาแผ่นหลายยี่ห้อที่ใช้สีผสมอาหารสีแดง Allura Red AC ซึ่งถูกแบนในหลายประเทศอยู่ดี

และถ้าพิจารณากันจากส่วนผสม เซียงจาแผ่นส่วนใหญ่ทำมาจากผลเซียงจาและน้ำตาลเป็นหลัก โดยไม่มีส่วนผสมของผลบ๊วยอยู่เลย เพียงแต่ว่าคนไทยเราคุ้นชินกับบ๊วยดองหรือบ๊วยตากแห้งซึ่งมีรสเปรี้ยวสดชื่น เมื่อเจอขนมที่แปรรูปมาแล้วมีรสชาติหรือกรรมวิธีใกล้เคียงกัน จึงเรียกว่าบ๊วยไปโดยปริยาย

อ้างอิง

Author :
April 28, 2023
Author :
เรื่องราวกินได้
Category :

Related Posts