รู้หรือไม่ว่าชาไทยหรือชาส้มที่เราชอบกินกันจนแทบจะเป็นเครื่องดื่มประจำชาตินั้น จริงๆ แล้วส่วนใหญ่มักจะไม่ใช่กลิ่นชาตามธรรมชาติ แต่เป็นการแต่งกลิ่นวานิลลาเข้าไปต่างหาก
ชาไทยยี่ห้อยอดนิยมที่ร้านส่วนใหญ่เลือกใช้กันคือชาแดงปรุงสำเร็จ ซึ่งประกอบไปด้วยชาอัสสัมบดละเอียด น้ำตาล สีและกลิ่นสังเคราะห์ มันจึงเหมาะกับการชงร่วมกับนมข้นหวาน นมข้นจืด นมสด หรือแม้กระทั่งผงครีมเทียม เพราะสีและกลิ่นที่ถูกปรุงแต่งมานั้นเข้มข้นพอที่จะทำให้น้ำชาไม่ถูกกลิ่นนมกลบ โดยเฉพาะเมื่อนำมาชงแบบเย็นซึ่งมักจะต้องใส่น้ำแข็งเจือจางเครื่องดื่มลงไปอีก
ชาแดงปรุงสำเร็จที่ว่านี้ก็ครองตลาดเป็นอันดับต้นๆ มาแล้วหลายสิบปี เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจหากเราทุกคนจะเชื่อเหมือนกันว่ากลิ่นชาไทยที่เราคุ้นเคยนั้นเป็นกลิ่นชาจริงๆ ก็เพราะเรากินชาไทยกลิ่นแบบนี้มาแทบจะตลอดชีวิตนี่นา ให้ทำยังไงได้ล่ะ!
แต่อย่าเพิ่งคิดว่านี่เป็นการหลอกลวงผู้บริโภคนะ เพราะจริงๆ แล้วบนบรรจุภัณฑ์ หรือบนฉลาก ผู้ผลิตเขาก็ระบุไว้ชัดเจนเสมอ ว่าสิ่งที่อยู่ในหีบห่อนี้คือ ‘ชาแดงปรุงสำเร็จชนิดผง กลิ่น วานิลลา’ เขียนบอกไว้โต้งๆ ตัวเบ้อเริ่ม ไม่ได้เป็นความลับแต่อย่างใด อาจจะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ นี่แหละที่ไม่ค่อยได้สังเกตเท่าไร พอมีคนมาเฉลยว่ากลิ่นชาไทย ชาเย็น หรือชาส้มที่เราคุ้นเคยนั้นไม่ใช่กลิ่นชา แต่เป็นกลิ่นวานิลลา หลายคนก็อาจจะร้อง “ฮะ?!” ขึ้นมาทันที
เดี๋ยวนี้มีหลายร้านที่พยายามจะใช้ชาแบบอื่นๆ มาชงให้กลายเป็นเรื่องดื่มสุดป๊อปอยู่บ้าง (แม้จะยังไม่ได้รับความนิยมจนสามารถล้มชาส้มแชมป์ตลอดกาลไปได้) เพราะฉะนั้นก็อย่าเพิ่งแปลกใจหากเมนูชานมเย็น ชาดำ หรือชามะนาวของบางร้านจะมีกลิ่นรสที่ไม่เข้มข้นและไม่คุ้นเคย มันไม่ได้หมายความว่าร้านนั้นใช้ชาปลอมหรือใช้ชาด้อยคุณภาพมาชงให้เราดื่ม แต่ชากลิ่นอ่อนๆ ที่ว่านั้นมันอาจจะเป็นชาแดงทั่วไปที่ไม่ได้ผ่านการแต่งสีหรือกลิ่นก็ได้นะ
และถ้าถามว่าการแต่งสีแต่งกลิ่นของชาส้มเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่ ก็คงตอบได้แต่แบบกำปั้นทุบดินว่า ตราบใดที่การปรุงแต่งนั้นยังอยู่ในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด ชาส้มก็คงดื่มได้แบบไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าตัวชาก็คือปริมาณของน้ำตาล นมข้นหวาน นมข้นจืด และส่วนผสมต่างๆ ที่ประกอบกันเป็นเครื่องดื่ม 1 แก้วนั่นต่างหาก เพราะลำพังตัวน้ำชาเปล่าๆ ให้พลังงาน 0 แคลอรี/ช้อนชา เรียกได้ว่าไขมันรอบเอวที่เกินมาน่ะ โทษชาไม่ได้แม้แต่นิด
เรื่องเซอร์ไพรส์ว่าด้วยรสชาติอาหารยังคงมีอีกมาก ซึ่งหลายๆ เรื่องก็ปรากฏอยู่บนฉลากอาหาร เช่นว่า ไอศกรีมเรนโบว์สุดคลาสสิกที่กินมาตั้งแต่เด็ก คือไอศกรีมรสราคาเมล และขนมทอดกรอบรูปปู ซองสีแดงแรงฤทธิ์แบบออริจินัลนั้นไม่ใช่รสปู แต่เป็นรสปลาหมึกต่างหาก เอ้า งงล่ะสิ!